กฟผ. ชูงาน I-REC Standard Conference 2022หนุนตลาดพลังงานสีเขียวอาเซียน

เรื่องที่น่าสนใจ

กฟผ.จับมือ The I-REC Standard Foundation จากเนเธอร์แลนด์จัดงาน I-REC Standard Conference 2022 ครั้งแรกในไทย หนุนตลาดพลังงานสีเขียวสู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว(Green Energy) หรือพลังงานสะอาด เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานจากขยะ ก๊าชชีวภาพมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและสภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)ในปีค.ศ.2065รวมถึงผลักดันกลไกใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC)ซึ่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสีเขียว

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ The International REC Standard Foundation หรือ I-REC ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน REC มองว่า ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวในด้านการลงทุนพลังงานสีเขียวจึงร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงาน I-REC Standard Conference 2022 ครั้งแรกในไทยเพื่อยกระดับมาตรฐานการรับรองคุณลักษณะพลังงานหมุนเวียนสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. เปิดเผยว่า ตลาดการซื้อขาย REC ในไทยมีการเติบโตกว่า 100%เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมและบริษัทที่สนใจมาลงทุนในไทยล้วนต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพื่อประโยชน์ทางการค้าที่ต้องพิสูจน์ Carbon Tracking ดังนั้น กฟผ. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐและผู้รับรอง (Local Issuer) ใบรับรอง RECที่ได้รับสิทธิ์จาก I-RECFoundation เพียงรายเดียวของไทยจึงพร้อมสนับสนุนการออกใบรับรอง REC ตามมาตรฐานสากลให้แก่ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อนำไปต่อยอดในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินการออกใบรับรอง REC ให้แก่ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนของไทยแล้วรวมกว่า 5.3 ล้าน REC รวมถึงสนับสนุนบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ของไทยในการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนที่น่าเชื่อถือเพื่อเป้าหมายด้านความยั่งยืนและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ

“กฟผ. เชื่อมั่นว่า การรับรอง REC ตามมาตรฐานสากลที่ กฟผ. ดำเนินการ จะช่วยให้บริษัทชั้นนำที่ลงทุนในไทยเข้าถึงพลังงานสีเขียว ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแข่งขันการค้าและนำไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานสีเขียวให้เติบโตมากยิ่งขึ้นเพื่อก้าวสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน”นายวฤต รัตนชื่น กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมกับพันธมิตรในการตรวจสอบใบรับรอง REC ร่วมกับคาร์บอนเครดิตโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER)ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมถึงบริษัท STACS ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญในการรวบรวมและติดตามมาตรฐานด้านความยั่งยืน การเงิน และสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันการนับซ้ำ (Double Counting) และยกระดับความน่าเชื่อถือในตลาดใบรับรองการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนด้วย